ตลาดซื้อขายบริการรับสร้างบ้าน เพื่อการ..ว่าจ้างสร้างบ้าน..แบบ วิน วิน

รู้เรื่องกฎหมาย
ก่อนเลือกแบบบ้าน คัดมาแต่เนื้อๆ

โดย ลุงทอม

ผมได้คัดย่อกฎหมายเฉพาะส่วนที่เจ้าของบ้านควรจะรู้ ก่อนการสร้างบ้านมาให้ท่านได้อ่านกันเพื่อเสริมความรู้ก่อนออกแบบบ้าน หรือใช้ประกอบในการคัดเลือกแบบบ้านกรณีเลือกแบบบ้านมาตรฐานของบริษัทรับสร้างบ้าน

บางหัวข้อ จะเป็นประโยชน์ในแง่ ความสัมพันธ์ กับเพื่อนบ้านข้างเคียง

รู้ว่าเราควรทำอะไรได้แค่ไหน

สำหรับระยะต่างๆ ภายในตัวบ้าน เช่นความสูงระหว่างชั้น ระยะของบันได กฎหมายระบุไว้ว่าอย่างน้อยต้องเท่าไร ในความเป็นจริง ท่านอาจเพิ่มเติมขนาดได้ตามใจชอบ ครับ

บางส่วนจาก ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544

กำหนดระยะเวลาในใบอนุญาต สำหรับอาคารที่มีพื้นที่รวมกันน้อยกว่า 10,000 ตารางเมตร กำหนดไว้ที่ 1 ปี หากประสงค์จะต่ออายุใบอนุญาต จะต้องทำก่อนใบอนุญาตหมดอายุ 
(หมวดที่ 2 ข้อที่ 17)

บันไดของบ้านพักอาศัย ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งบันได ที่มีความกว้างไม่ต่ำกว่า 90 ซ.ม. ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 ซ.ม. บันไดที่สูงเกิน 3 เมตร ต้องมีชานพักบันได ทุกช่วง 3 เมตร (หมวดที่ 4 ข้อที่ 38)

อาคารก่อสร้างใกล้ถนนสาธารณะ ซึ่งถนนสาธารณะนั้น มีความกว้างน้อยกว่า 6 เมตร ให้ร่นแนวอาคาร ห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะ อย่างน้อย 3 เมตร มิให้มีส่วนของอาคารล้ำเข้ามา ในแนวร่นดังกล่าวยกเว้นกำแพงกันแนวเขตที่ดินซึ่งสูงได้ไม่เกิน 2 เมตร (หมวดที่ 5 ข้อที่ 50 )

อาคารสูงเกิน 2 ชั้น หรือ เกิน 8 เมตร อาคารขนาดใหญ่ ห้องแถว ตึกแถว อาคารพาณิชย์ ยกเว้นอาคารอยู่อาศัยสูงไม่เกิน 3 ชั้น หรือ ไม่เกิน 10 เมตร ต้องมีระยะร่นดังต่อไปนี้ (หมวดที่ 5 ข้อที่ 50 )

ถ้าถนนสาธารณะนั้น มีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ให้ร่นแนวอาคาร ห่างจากกึ่งกลางถนน อย่างน้อย 6 เมตร 

ถ้าถนนนั้น กว้างกว่า 10 เมตร แต่ไม่เกิน 20 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะ อย่างน้อย 1 ใน 10 ของความกว้างถนนสาธารณะ

ถ้าถนนสาธารณะนั้น มีความกว้างตั้งแต่ 20 เมตร ขึ้นไป ให้ร่นแนวอาคารจากเขตถนนสาธารณะ อย่างน้อย 2 เมตร

ในการสร้างบ้านบนที่ดินของตนเองแต่ละหลัง จะต้องเว้นที่ว่างบนแปลงที่ดิน ไม่น้อยกว่า 30 % ของพื้นที่ ที่ดินทั้งหมด (หมวดที่ 5 ข้อที่ 52)

บ้านพักอาศัยที่อยู่ติดกับที่ดินแปลงอื่น การทำช่องเปิดประตูหน้าต่าง ช่องระบายอากาศ หรือ ริมระเบียง สำหรับชั้น 2 ลงมา หรือสูงไม่เกิน 9 เมตร ต้องอยู่ห่างจากเขตที่ดินบ้านข้างเคียงไม่น้อยกว่า 2 เมตร สำหรับชั้นสามของบ้านสามชั้น หรือที่สูงเกินกว่า 9 เมตร ต้องอยู่ห่างจากแนวเขตที่ดิน ไม่เกิน 3 เมตร (หมวดที่ 5 ข้อที่ 54)

อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 15 เมตร ยกเว้นบ้านพักอาศัย ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 300 ตารางเมตร จะต้องมีที่ว่างรอบอาคาร ไม่ต่ำกว่า 1 เมตร (หมวดที่ 5 ข้อที่ 55)

บ้านพักอาศัย ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 300 ตารางเมตร ให้ผนังด้านที่ไม่มีช่องเปิด สามารถห่างจากแนวเขตที่ดินได้ น้อยกว่า 1 เมตร แต่ถ้าห่างจากแนวเขตที่ดินน้อยกว่า 50 ซ.ม. จะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือ จากเจ้าของที่ดินที่อยู่ข้างเคียง ในด้านนั้นด้วย
(หมวดที่ 5 ข้อที่ 56)

ห้องน้ำ ละห้องส้วมที่แยกจากกัน ต้องมีขนาดพื้นที่ ห้องแต่ละห้อง ไม่ต่ำกว่า .90 ตารางเมตร (จุดเก้าศูนย์ ตารางเมตร) หากห้องส้วมและห้องอาบน้ำใช้ร่วมกัน ต้องมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1.50 ตารางเมตร ต้องมีช่องระบายอากาศไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 ของพื้นที่ห้อง ความสูงจากพื้นห้องน้ำ ถึงฝ้าเพดาน ไม่ต่ำกว่า 2 เมตร (หมวดที่ 5 ข้อที่ 61)

ที่จอดรถ 1 คัน จะต้องเป็นรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร ยาวไม่น้อยกว่า 5 เมตร (หมวดที่ 9 ข้อที่ 86)

ในการก่อสร้างอาคาร ผู้ได้รับอนุญาต จะต้องจัดทำรั้วชั่วคราวทึบ สูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร ปิดกั้นตามแนว ที่ดินที่อยู่ติดกับสาธารณะ หรือ บ้านข้างเคียง เว้นแต่จะมีรั้วทึบ หรือ กำแพงเดิมสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร (หมวดที่ 11 ข้อที่ 113)

ในระหว่างการก่อสร้างอาคาร ที่มี่ความสูงเหนือกว่าระดับดินเกิน 10 เมตร ด้านที่มีระยะราบวัดจากแนวอาคารด้านนอก ถึงที่สาธารณะ หรือ ที่ดินต่างเจ้าของ น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของความสูงของอาคาร ต้องจัดให้มีการกำจัดฝุ่นทำความสะอาดพื้นทุกวัน ต้องจัดให้มีสิ่งป้องกันวัสดุร่วงหล่น มีความสูงไม่น้อยกว่าความสูงของอาคารที่ได้รับอนุญาต และต้องรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดี ตลอดระยะเวลาก่อสร้าง (หมวดที่ 11 ข้อที่ 113)

ห้ามก่อสร้าง หรือ กระทำการใดๆ ในบริเวณที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง ระหว่างเวลา 22.00 - 6.00 น. (หมวดที่ 11 ข้อที่ 113)

 

บางส่วน จาก กฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543)

ห้องนอนในอาคารให้มีด้านกว้าง สำหรับด้านที่แคบที่สุดไม่น้อยกว่า 2.5 เมตร และ มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร (ส่วนที่ 2 ข้อ 20)

ช่องทางเดินภายในบ้าน จะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1 เมตร (ส่วนที่ 2 ข้อ 21)

ระดับความสูงจากพื้นถึงพื้น (ระยะดิ่ง ตามที่ระบุไว้ในกฏกระทรวง ) สำหรับบ้านพักอาศัย จะต้องสูงไม่น้อยกว่า 2.6 เมตร (ส่วนที่ 2 ข้อ 22)

อาคารที่ก่อสร้างใกล้ คูคลอง ลำราง ลำประโดงแหล่งน้ำสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ให้ร่นแนวอาคาร ห่างจากเขตแหล่งน้ำสาธารณะนั้น ไม่น้อยกว่า 3 เมตร แต่ถ้าแหล่งน้ำ สาธารณะ ที่มีความกว้างมากกว่า 10 เมตร ให้ร่นแนวอาคาร ไม่น้อยกว่า 6 เมตร (หมวดที่ 4 ข้อ 42)

สำหรับอาคารที่ก่อสร้างใกล้แหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น บึง ทะเลสาบ ต้องร่นแนวอาคารห่างจากเขตแหล่งน้ำสาธารณะนั้น ไม่น้อยกว่า 12 เมตร (หมวดที่ 4 ข้อ 42)


-จบบทความในเรื่องนี้-

หากมีข้อสงสัย
ต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการว่าจ้างผู้รับเหมา
และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้าน ปรึกษาได้ฟรีครับ
โดยคลิกที่ไอคอนข้างล่างนี้

 


ค้นข้อมูล ในซีเล็คคอน

14-2-2560-S

สงวนลิขสิทธิ์ © โดยทีมงาน selectcon.com