ตลาดซื้อขายบริการรับสร้างบ้าน เพื่อการ..ว่าจ้างสร้างบ้าน..แบบ วิน วิน

 

ประสบการณ์สร้างบ้าน
เรื่องจริงผ่านเน็ท โดยเจ้าของบ้าน

 


โดย หมอโจ

มุมมองเจ้าของบ้าน ตอนที่ 50
ผนังหนึ่งด้าน . . . เริ่มจากอิฐทีละก้อน

งานก่อผนังบ้านผมแผงแรก ไม่ใช่ฝีมือผู้รับเหมาครับ
แต่เป็นผลงานทีมช่างก่อของ Superblock มาเอง

ประมาณว่าทำโชว์ไว้ให้คนงานก่อดูเป็นตัวอย่าง แต่ขอโทษที มาก่อให้ดูทั้งที . . . . .

. . .ก่อแผงแค่เนี้ยนะ

แผงต่อๆไป คนงานก็เริ่มก่อกันเอง บางคนก็ก่ออิฐมอญ
บางคนก็ก่ออิฐมวลเบา ไปแอบดูเค้าก่อกันดีกว่า

เริ่มจากอิฐมอญก่อนละกัน เบสิกที่สุด เชื่อว่าทุกคนคงเคยเห็นกันมาบ้างแล้ว
บ้านผมก่อด้วยอิฐมอญตันแบบครึ่งแผ่น คือเอาด้านกว้างของอิฐมาต่อกันตามแนวยาว
งงมั้ยเนี่ย (เขียนเองยังงงเองเลย)

ไปดูรูปดีกว่า ยิ่งอธิบายจะยิ่งงง

เนี่ยแหละครับ ก่อแบบครึ่งแผ่น ที่ผมว่า

โดยก่อนก่อ จะต้องพรมน้ำ หรือแช่น้ำซะก่อน
ไม่งั้นอิฐที่แห้งจะไปดูดน้ำจากตัวปูนเร็วเกินไป

ระหว่างอิฐแต่ละก้อน ก็จะพอกปูนหนาประมาณ 1.5-2 ซม
บางไป ปูนก็จับกับอิฐได้ไม่ดี ผนังไม่แข็งแรง
หนาไป ก็เปลืองปูนไปเปล่าๆ

วันแรกของการก่อ ผ่านไปด้วยดี
แต่พอคอนซัลแทนซ์มาตรวจงานในวันถัดมา ก็ทำให้ผมรู้ว่า
มันมีทริคบางอย่าง ที่เราไม่ค่อยคิดถึง

พี่แกบอกว่า การก่อผนังอิฐ ชนใต้ท้องคานที่ถูกต้อง จะต้องไม่ก่อรวดเดียวจนชนท้องคาน
แต่ต้องเว้นช่องว่างไว้ก่อน ซักแถวหรือสองแถวสุดท้าย ( ประมาณ 10 cm)

รอสักห้าถึงเจ็ดวัน ให้อิฐกับปูนส่วนล่างแข็งตัวก่อน
ค่อยก่ออิฐทำมุม30-45 องศา อุดช่องว่างที่เหลือใต้คาน

“ ถ้าก่อรวดเดียวเต็มแผง แผงอิฐหนักมาก อิฐข้างล่างซึ่งยังไม่เซ็ทตัวจะยุบลงมา ”
“ ข้างบนที่ติดกับท้องคานก็จะทรุด ”

มิน่าละ ตอนแรกผมก็คิดว่า คนงานพวกนี้เค้าอู้งาน
หยิบโหย่ง ก่อได้หน่อย ก็ย้ายไปก่ออีกแผง
ทำไมไม่ก่อให้เสร็จเป็นแผงๆนะ ( ทำเป็นอวดรู้เชียว )

ดีนะ ที่ไม่เสร่อไปว่าเค้า

แผงอิฐที่ก่อขึ้นมาดื้อๆ ถ้าไม่มีจุดยึดติด แค่ออกแรงผลักก็พังลงมาได้ทันทีนะครับ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ระหว่างที่เค้าก่อชิดกับเสา เค้าก็จะเจาะรูที่เสา
เพื่อเสียบเหล็กหนวดกุ้ง ขนาด 6 มม. (ยึดด้วยกาวอีพ็อกซี่)
ปลายเหล็กอีกด้านหนึ่งจะเสียบเข้ามาในแผงอิฐทุกระยะ 40 ซม.

เพื่อเป็นตัวให้แผงผนังเกาะยึด เพิ่มความแข็งแรงครับ

สำหรับแผงอิฐที่ก่อแผงใหญ่มากๆ การมีเหล็กเสียบแค่นั้นก็ยังไม่พอ
จำเป็นจะต้องมีโครงสร้างมายึดแผงตรงกลางเอาไว้ด้วย 

ไม่งั้นถ้ายืนพิง หรือเอามือไปยันกลางแผ่น ผนังก็ถล่มได้เหมือนกัน
โครงคอนกรีตเสริมเหล็กที่เอามาเป็นตัวให้ผนังยึดเนี่ยแหละครับ
ที่เค้าเรียกกันว่า เสาเอ็นและคานทับหลัง

ถ้ายาวจรดพื้นถึงคาน อันนั้นเค้าเรียก “ เสาเอ็น ”
แต่ถ้ายาวจากเสาหรือเสาเอ็นด้านหนึ่ง ไปหาเสาหรือเสาเอ็นอีกด้านหนึ่ง
ก็จะเรียกว่า “ คานทับหลัง ”

โดยขนาดความหนาของเสาเอ็นและทับหลัง ไม่เล็กกว่า 10 ซม.
ความกว้างเท่ากับผนังที่ก่อ สำหรับแผงผนังทึบ ควรมีเสาเอ็นทุกระยะ 2-3 เมตร

ส่วนคานทับหลัง ก็ควรมีเมื่อก่ออิฐไปได้สูงประมาณ 1.5-2 เมตร
ทิ้งไว้ข้ามคืน ค่อยมาก่อต่อขึ้นไป

ส่วนผนังที่มีประตูหน้าต่าง ตำแหน่งของเสาเอ็นและทับหลังจะประกบรอบวงกบทุกด้าน
เพื่อช่วยกระจายน้ำหนักอิฐที่อยู่ข้างบน ลงสู่คานทับหลัง
ถ่ายลงสู่เสาเอ็นแทน และช่วยป้องกันการบิด หดยืดตัวของวงกบไม

ที่เล่าได้เป็นฉากๆเนี่ย ไม่ได้ตรัสรู้เองหรอกนะครับ
อาศัยครูพักลักจำ ถามคนโน้น ฟังคนนี้ อ่านนู่น อ่านนี่ เอาน่ะ
( ถึงเราจะเป็นแค่เจ้าของบ้าน แต่ก็ควรหาความรู้เรื่องเหล่านี้ไว้บ้างนะครับ )

ผมนั่งดูเค้าทำเสาเอ็น ว่ามันทำกันยังไง พอเห็นแล้วก็เกิดอาการสับสนในชีวิต

ก็ดูสิ นี่มันเสาเหล็กชัดๆ ดันมาเรียกเสาเอ็น

เค้าเอาเสาเหล็กนี้ มายึดกับเหล็กเสียบ และคานทั้งสองด้าน แล้วก็เทคอนกรีต

ส่วนนี่ คานทับหลังส่วนที่จะเป็นหน้าต่างห้องครัว เริ่มจากวางโครงเหล็กไว้ก่อน
(พุงที่เห็นนั่น ของโฟร์แมนนะครับ ไม่ใช่ของผมนะ)

พอทำเสาเอ็น เทคอนกรีตแล้ว ก็จะเป็นอย่างนี้
(ผนังด้านนี้โดนแดดบ่าย ผมให้เค้าก่อผนังอิฐ2ชั้น เลยดูหนาๆหน่อย)

สิ่งสำคัญก็คือ ปลายของเหล็กต้องเสียบเข้ากับคานหรือเสาที่มันไปเกาะ
ไม่ใช่ไปแตะเฉยๆ และปูนที่ใช้ก็ต้องเลือกใช้ให้ถูกประเภท

ซ้ายสำหรับงานก่อ ฉาบ
ส่วนขวาใช้กับงานโครงสร้าง ทำเสาเอ็น และทับหลัง

เขียนมายืดยาว ได้แค่เรื่องก่ออิฐมอญอย่างเดียวเองเหรอเนี่ย
ขอยกยอดเรื่องอิฐมวลเบาไปตอนหน้าละกันนะครับ หิวมาก ขอตัวไปหาอะไรทานก่อน

“ ตัวเอง มีอะไรกินบ้าง พี่หิวอ่ะ ”
“ ไม่มี ”
“ งั้นทำอะไรให้กินหน่อยดิ ”
“ ทำเอง ” ชักยังไงๆซะแล้วแฟนผม

“ แม่พี่บ่นว่า เมื่อไหร่จะมีหลานซักที งั้นพี่ว่าคืนนี้ . . . . ”
“ ไปนอนข้างนอกนู่น ! ”

“ เห็นต้นฉบับบทความดีกว่าเมีย ”
“ ก็นอนหน้าโต๊ะทำงานนู่นเลย ”
“ ไม่ต้องมากวน ! ” เอาละสิแฟนผม ของขึ้นซะแล้ว สงสัยยังงอนผมไม่หาย

เดี๋ยวขอตัวไปง้อก่อนนะครับ ไม่งั้นคืนนี้ โดนยุงหามแน่ๆ
“ พี่ผิดไปแล้วจ้า เมียจ๋า.....”

-โปรดอ่านต่อหน้าถัดไป -

 

หากมีข้อสงสัย
ต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการว่าจ้างผู้รับเหมา
และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้าน ปรึกษาได้ฟรีครับ
โดยคลิกที่ไอคอนข้างล่างนี้

ไปหน้า..สารบัญเรื่องจริงผ่านเน็ท
ประสบการณ์สร้างบ้านของเจ้าของบ้าน


ค้นข้อมูล ในซีเล็คคอน

14-2-2560-S

สงวนลิขสิทธิ์ © โดยทีมงาน selectcon.com