ตลาดซื้อขายบริการรับสร้างบ้าน เพื่อการ..ว่าจ้างสร้างบ้าน..แบบ วิน วิน

"ความเชื่อผิดๆ"..ของลูกค้าสร้างบ้าน
ในการ"สร้างบ้าน"บนที่ดินของตนเอง

โดย..ลุงทอม

ความเชื่อผิดๆ ลำดับที่ 8

ให้ผู้รับจ้าง เป็นผู้ร่างสัญญา

 

คำอธิบาย

เนื่องจากว่าเจ้าของบ้านไม่มีความรู้ในด้านงานก่อสร้าง หรือ บางคนก็มองเรื่องความสะดวกสบายเป็นหลัก เมื่อทำการการว่าจ้างสร้างบ้านจึงให้ผู้รับจ้างสร้างบ้านร่างสัญญามาให้ดู

เจ้าของบ้านส่วนใหญ่ อาจจะพึ่งสร้างบ้านหลังนั้นๆเป็นครั้งแรก อีกทั้งเนื้อหาสัญญาก็เป็นอะไรที่อ่านยาก ยืดยาว บางคนแค่ดูแต่จุดหลักๆ เรื่องงวดงาน กำหนดการจ่ายเงิน การปรับกรณีงานล่าช้า  และข้อกำหนดกรณีถูกทิ้งงาน เป็นต้น นอกนั้นอาจจะปล่อยเลยตามเลย ตามสัญญาที่ผู้รับจ้างร่างมาให้

แน่นอนครับเมื่อผู้รับจ้างเป็นผู้ร่างสัญญา หรือ จัดหาสัญญามาให้ ข้อกำหนดบางอย่างในสัญญาที่ทำให้ผู้รับจ้างต้องเสียประโยชน์อาจจะถูกตัดออก ซึ่งบางทีเจ้าของบ้านรายนั้นๆอาจจะไม่ได้เฉลียวใจ ตกลงเซ็นต์สัญญากันก็มี

ผมมีความเชื่ออย่างนี้ครับว่า หากเซ็นต์สัญญาเสียเปรียบตั้งแต่แรก สร้างบ้านไม่ค่อยมีความสุขหรอกครับ

ที่ควรจะเป็น

ก่อนเซ็นต์สัญญา เจ้าของบ้านควรศึกษาสัญญาว่าจ้างที่มีการใช้กันและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งหาได้ตามเว็บไซท์ต่างๆ หรือ จากหนังสือที่วางขาย

นอกจากข้อกำหนดที่พึงมีในสัญญาแล้ว ผมขอเพิ่มเติมบางจุดที่อาจจะมีช่องโหว่ไว้ดังนี้ครับ

การแบ่งงวดงานต้องเขียนให้ละเอียดว่า เนื้องานมีอะไรบ้าง เท่าที่พบส่วนใหญ่เขียนไว้ไม่ละเอียดหรอกครับแค่ระบุกันที่เนื้องานหลักๆ

จำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละงวดที่เหมาะสมกับเนื้องาน

ระยะเวลาในการก่อสร้างรวม และ ระยะเวลาในการก่อสร้างในแต่ละงวด (มีค่าปรับกรณีงานแต่ละงวดล่าช้า ไม่ใช่รอปรับตอนหมดสัญญา)

ข้อกำหนดกรณีงานลดงานเพิ่ม จ่ายคืนเท่าไร คิดเพิ่มอย่างไร

เอกสารประกอบสัญญา ประกอบด้วย ตัวสัญญา แบบก่อสร้าง เอกสารกำหนดมาตรฐานงานก่อสร้าง รายการวัสดุก่อสร้าง ที่ต้องเขียนให้ละเอียด และ แผนงานก่อสร้าง

การขอเปลี่ยนผู้ควบคุมงาน และ คนงานกรณีที่เราไม่พอใจในคุณภาพงานที่ได้รับ หรือ งานไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควร

มาตรการลงโทษ กรณีที่ผู้ควบคุมงาน (ที่มีความรู้ความเข้าใจนะครับ ไม่ใช่ผู้ควบคุมงานกำมะลอ อุปโลกน์มา)ไม่ควบคุมงานที่หน่วยงาน

มาตรการปรับกรณีผู้รับจ้างทำงานไม่ถูกต้องตามหลักวิชาช่าง เช่น ไม่บ่มคอนกรีตโครงสร้าง ถอดแบบหรือค้ำยันเร็วกว่ากำหนด แอบเอาวัสดุผิดเสปคมาใช้ ในหน่วยงานของเรา

เรื่องการปรับนี้ท่านผู้อ่านคงไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน ว่าทำอย่างนี้ได้ด้วยหรือ 

เพราะผมเองมีความเชื่อว่าก่อนเซ็นต์สัญญาอำนาจในการต่อรองเรามีมาก กว่า ใครรับเงื่อนไขเราได้ก็คุยกัน ผมจึงนำเสนอวิธีการปรับแบบนี้ขึ้นมา และเริ่มนำไปใช้กับลูกค้าบางรายของผมที่มาใช้บริการว่าจ้างผู้รับเหมา ซึ่งผู้รับเหมาเองบางรายก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

บางรายก็มองว่ามาตรการนี้ตึงเกินไป พวกนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พวกเอาเปรียบเจ้าของบ้านจนเคยตัว หรือ พวกกลัวเจ้าของบ้านเอาเปรียบ อย่าลืมว่าเรื่องการทำงานให้ถูกหลักวิชาช่างนั้น เป็นสิ่งที่ผู้รับเหมาต้องทำอยู่แล้ว

และผู้รับเหมาเอง ตอนเสนองานก็พร่ำบอกกับเจ้าของบ้านว่า

"ผมจะทำงานตามหลักวิชาช่างครับ"

"ของผมควบคุมงานใกล้ชิดครับ"

"ผมใช้วัสดุก่อสร้างที่ได้มาตรฐานครับ ไม่ต้องห่วง"

แล้วอย่างนี้ เมื่อมากำหนดมาตรการการปรับที่ชัดเจนเอาไว้ ท่านกลัวอะไร

- โปรดอ่านต่อหน้าถัดไป -

หากมีข้อสงสัย
ต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการว่าจ้างผู้รับเหมา
และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้าน ปรึกษาได้ฟรีครับ
โดยคลิกที่ไอคอนข้างล่างนี้

กลับไปหน้าสารบัญ
เรื่องน่ารู้เมื่อเตรียมการสร้างบ้าน

 


ค้นข้อมูล ในซีเล็คคอน

14-2-2560-S

สงวนลิขสิทธิ์ © โดยทีมงาน selectcon.com