ตลาดซื้อขายบริการรับสร้างบ้าน เพื่อการ..ว่าจ้างสร้างบ้าน..แบบ วิน วิน

 

ประสบการณ์สร้างบ้าน
เรื่องจริงผ่านเน็ท โดยเจ้าของบ้าน

 


โดย หมอโจ

มุมมองเจ้าของบ้าน ตอนที่ 59
อยากได้บ้านเย็น ประหยัดพลังงาน ต้องวางแผน

“ มันแพงกว่าอย่างอื่นไม่ใช่เหรอ ”
“ เห็นว่าตอนแรก ไปจองฉนวนเขียวแล้วด้วยนี่ แล้วทำไมไม่เอา ”

หะ . . . แม่ผมรู้ได้ยังไงเนี่ย สงสัยลูกสะใภ้ตัวดี จะไปฟ้องแหงๆ

เมื่อแม่ผัวกับลูกสะใภ้จอยกันได้ . . .
ผมชักรู้สึกบรรยากาศมันน่ากลัวยังไงพิกล 

เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่อเกือบ1ปีที่แล้ว ตอนที่ยังพึ่งจะลงเสาเข็มได้ไม่กี่ต้น
ผมได้แอบหนีหมอผึ้งไปเดินงานบ้านและสวนแฟร์คนเดียว
แล้วก็เผลอไปจองฉนวนเขียวโดยไม่บอกคุณเธอก่อน

ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เห็นน้องที่บูธเค้าน่ารักดี
ก็เลยช่วยๆจองทำยอดให้น้องเค้า

พอหมอผึ้งรู้เข้า แกก็ไม่ว่าอะไร

แค่ลงไม้ลงมืออย่างเดียว . . . อูยยยย . . . 
ตะ...ตะ...ตั้งแต่นั้นมา จะซื้ออะไร ละ...ละ...เลยต้องให้เมียเห็นชอบก่อนทุกครั้ง

ฉนวนเขียวที่ว่า ผมหมายถึง ฉนวนไฟเบอร์กลาสสีเขียวๆที่หุ้มด้วยฟอยล์
ยี่ห้อ “ อยู่เย็น” ที่วางขายกันทั่วไปนั่นแหละครับ

จริงๆแล้วมันมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนที่คุ้มราคามากๆตัวหนึ่งเลยทีเดียว

ที่มันคุ้มก็เพราะ เจ้าอยู่เย็นที่ว่านี้ มีวางขายถึง 3 ความหนา
คือ 3,4.5 และ 6 นิ้ว และราคาก็ไม่ได้แพงมาก

ความหนาเนี่ยแหละครับ ทำให้มันกันความร้อนได้ดี

เพราะคุณสมบัติกันความร้อนของฉนวน เราจะดูที่ค่าการกันความร้อน (R)
ซึ่งจะสัมพันธ์กับค่า k และความหนาของฉนวนครับ จากสูตร

R = ความหนา /k

ค่า k คือ ค่าสัมประสิทธิ์การ นำ ความร้อน ยิ่งมีค่าน้อยๆ ยิ่ง กัน ความร้อนได้ดี
ตรงข้ามกับความหนา ยิ่งหนามากๆ ยิ่งกันความร้อนได้มาก

ฉนวนไฟเบอร์กลาสมีค่า k ที่ไม่ได้เหนือกว่าฉนวนอื่นมากนัก
เรียกว่าถ้าเทียบกันตัวต่อตัว ที่ความหนาเท่ากันแล้ว
อาจจะเป็นรองฉนวนบางตัวที่มีวางขายในบ้านเราอยู่ด้วยซ้ำ

แต่อาศัยว่ามีความหนากว่าใครเพื่อน ก็เลยกันความร้อนได้ดี และราคาไม่แพง

“ ดูตามสูตรแล้ว ถ้าอย่างนั้น เอาอะไรมาทำเป็นฉนวนก็ได้สิ “
“ ขอให้หนาๆไว้ก่อน ”

“ ก็ใช่สิพี่ หน้าที่ของฉนวนเป็นแค่ตัวหน่วงให้ความร้อนเข้าบ้านได้ช้าเท่านั้นเอง ”

“ พี่ก่อผนังเบิ้ลสองชั้น หนาขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นฉนวนแล้วนะ ”
“ ยกเว้นว่าพี่เอาวัสดุที่ค่า k สูงๆ อย่างเหล็กมาทำ อันนี้คงไม่ช่วย ” สถาปนิกตอบผม
“ แต่ถ้าพี่ใช้วัสดุหนาๆมากๆ ก็เปลืองเปล่าๆ ”
“ ยิ่งถ้าพื้นที่เหนือฝ้าไม่มากอย่างบ้านพี่ ใช้ฉนวนเขียวปูจะลำบากในการติดตั้ง ”

“ แต่ที่ผมห่วงบ้านพี่ นอกจากเรื่องกันร้อนแล้ว ”
“ ยังมีเรื่องกันเสียง อีกเรื่องหนึ่ง ”

ใช่แล้วครับ หลังคาเมทัลชีทบ้านผมเสียงดังสนั่นหวั่นไหวมากตอนนี้
ยิ่งถ้าวันไหนฝนตกหนักๆ แทบจะคุยโทรศัพท์ไม่รู้เรื่องเลยทีเดียว
ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากเสียงฝนที่กระทบโลหะ ผ่านลงมาสู่ห้องที่ยังไม่ได้ปูฝ้าโดยตรง
อีกส่วนหนึ่งน่าจะผ่านเข้ามาทางผนังบ้านที่ยังไม่ปิดกระจก

นี่เป็นข้อด้อยของหลังคาเมทัลชีท
ใครที่คิดจะใช้ต้องหาทางป้องกันด้วยนะครับ

การจะใช้ฉนวนเขียววางเหนือฝ้า
แม้จะถูกกว่า แต่ดูจะไม่แก้ปัญหาเรื่องเสียงดังให้บ้านผมได้

ครั้นจะปูฉนวนเหนือฝ้าร่วมกับพ่นโฟมกระดาษเก็บเสียง ก็ดูจะอลังการงานสร้างไปหน่อย
ราคาก็ไม่ได้ถูกกว่าพ่นพียูโฟมอย่างเดียวเท่าไหร่นัก

ส่วนฉนวนพีอีโฟม หรือโพลี่เอททิลีน
เป็นฉนวนอีกแบบหนึ่งทำจากโพลี่เอทิลีนกับแผ่นสะท้อนความร้อน
หนาประมาณ10มิลลิเมตร ( แค่ความหนาก็สู้ตัวอื่นไม่ได้แล้ว) ยึดติดกับเมทัลชีทโดยอาศัยกาว
(ส่วนใหญ่จะติดมาตั้งแต่โรงงาน) และก็มักจะมีปัญหาหลุดร่อนได้บ่อย ถ้ากาวไม่ดีพอ
ส่วนเรื่องกันเสียง ก็ได้ระดับหนึ่งเพราะความที่มันไม่หนานัก

หน้าตาเจ้าฉนวนพีอีที่ว่าครับ ความหนาสู้ฉนวนเขียวไม่ติดเลย

ฉนวนอีกชนิดที่ตอนแรกผมเกือบจะเคลิ้มตามไปแล้ว ก็คือ ฉนวนเยื่อกระดาษหรือเซลลูโลส

ตอนนั้นกระแสรักษ์โลกกำลังมาแรง ใครๆก็พยายามใช้วัสดุรีไซเคิล
ซึ่งตรงคอนเซ็ปฉนวนแบบนี้พอดี จุดเด่นของมันคือเก็บเสียง
ซับเสียง กันเสียงสะท้อนได้ดีมาก เผลอๆจะเด่นกว่าคุณสมบัติกันความร้อนเสียอีก

ตัวโฟมที่เป็นเยื่อกระดาษเค้าจะผสมกาวเข้าไปเพื่อให้มันยึดเกาะได้

พอเอามาพ่นใต้เมทัลชีท ก็จะยึดเกาะ แต่ผมดูแล้ว ไม่แน่ใจว่ามันจะร่วงหล่นง่ายรึเปล่า

(มารู้ทีหลังว่า มันเหมาะกับเอาไปทำฉนวนในห้องโฮมเธียเตอร์ซะมากกว่า)

ผมกลับมาปรึกษาหมอผึ้ง ขอความเห็นชอบ
คิดว่าใจเธอคงอยากได้ฉนวนเขียวเพราะราคาถูกกว่า แต่ปรากฎว่า

“ อย่าเอาฉนวนไฟเบอร์กลาสเลยพี่ ”
“ ถ้าฟอยล์ฉีกขาดมา ละอองมันฟุ้งกระจาย ”
“ จะทำให้เกิด Fiberglass Dermatitis ได้นะ ”

คุณเธอไม่พูดเปล่า เอาตำราแพทย์มากางให้ผมดูด้วย

ลักษณะผื่นคันที่หมอผึ้งพูดถึงครับ

เหมือนๆ ผื่นแพ้สารเคมีอื่นๆ

แต่พอเอาผื่นไปตรวจดูจะพบเจ้าไฟเบอร์กลาสเนี่ยแหละครับ
(ขอบคุณรูปจาก dermnet.comครับ)

“ ไหนจะทำให้เกิด pneumoconiosis* อีก
นี่ยังไม่นับว่ามันจะเป็น carcinogen** อีกรึเปล่า ”

แทรกคำแปลนิดนะครับ
* pneumoconiosis
คือโรคปอดที่เกิดจากการหายใจเอาฝุ่นละอองสารอนินทรีย์เข้าไปเป็นเวลานานๆ
ทำให้เกิดพยาธิสภาพที่ปอดเป็นพังผืด สารที่ทำให้เกิดโรคนี้ เช่น
ฝุ่นถ่านหิน (กรณีที่แม่เมาะ) ฝุ่นหินจากโรงงานระเบิดโม่หิน
ฝุ่นฝ้ายจากโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ และฝุ่นอื่นๆ
รวมถึงฝุ่นไฟเบอร์กลาสจากฉนวนหลังคาบ้าน ( ถ้าฟอยล์มันแตกนะครับ)

** carcinogen คือสารก่อมะเร็งครับ

(ออกจะวิชาการหน่อยนะครับตอนนี้)

หลังจากหารือกันอยู่พักหนึ่ง ก็เป็นอันว่า ที่ประชุม (ซึ่งมีกันสองคน)
ลงมติให้ใช้ฉนวนพียูโฟมครับ

หน้าที่ต่อไปของผมก็คือ สอบถามราคาและหาเจ้าที่พร้อมจะมาทำให้

ผมสอบถามราคาจากทั้งจากร้านในเน็ท ร้านริมถนน ร้านที่คนรู้จักแนะนำ
รวมถึงตามโบรชัวร์ของโฮมโปร (แพงโคตรๆ ขอบอก)
นอกจากจะได้ราคาแล้วก็ยังได้ข้อมูลเรื่องฉนวนพียูมาพอสมควร

ฉนวนพียูโฟมชนิดพ่น หรือโพลี่ยูรีเทน
มีค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อน(k) ที่ต่ำกว่าตัวอื่นๆที่มีขายในท้องตลาดเวลานี้
เป็นรองแค่สูญญากาศ (เค้าโม้มายังงี้)

เวลาพ่นไปแล้ว เนื้อโฟมจะเกาะกันแน่น โมเลกุลเรียงกันเป็น closed cells
ไม่มีรูโพรงอากาศ จึงช่วยดูดซับเสียงได้ด้วย

ทนกรดทนด่าง ติดไฟได้ แต่ไม่ลามไฟ (เป็นยังไง เดี๋ยวตอนหน้าจะเผาให้ดูจะๆ)
น้ำหนักเบา ไม่ยุบตัว

เรื่องการยุบตัวก็สำคัญนะครับ จำได้มั้ยว่า ค่า R แปรผันตรงกับความหนา
ยิ่งหนามากยิ่งดี แต่วัสดุฉนวนบางตัว เวลาใช้ไปนานๆจะยุบตัวลง
ความหนาก็จะลดลง ส่งผลให้กันความร้อนได้ลดลงด้วย

จริงๆมีคุณสมบัติอีกมากบรรยายได้ไม่หมด แต่เอาเป็นว่า
ถ้าบ้านใครหลวมตัวมาใช้หลังคาเมทัลชีทแบบผมแล้ว ฉนวนพียูโฟมพ่น เหมาะที่สุด

แต่ถ้าเป็นหลังคาแบบอื่น
ก็แล้วแต่ดุลยพินิจของแต่ละท่านนะครับ

ที่เล่ามาตั้งแต่ต้นเนี่ย เป็นฉนวนกันความร้อนประเภท mass insulation
คือหน่วงให้ความร้อนเข้าบ้านได้ช้าได้น้อยลง

แต่ยังมีวัสดุกันความร้อนอีกประเภทที่ใช้วิธีสะท้อนความร้อนออกไป (reflective insulation )
คงพอนึกภาพออกนะครับ บ้านผมก็ใช้ครับ แต่ยังไม่ได้ทำในตอนนี้
เอาไว้ทำเมื่อไหร่จะมาเล่าอีกทีครับ

ตอนหน้าจะพาไปดูการพ่นโฟมพียูบ้านผมกัน
ถ้าอยากดูเร็วๆ ก็เร่งเฮียบอกอ ให้รีบลงตอนต่อไปละกันนะครับ
ช่วงนี้แกอู้งานจังเลย

ไม่รู้ไปหัวงูอยู่แถวไหนรึเปล่าเนี่ย

แทงหลังกันเห็นๆ 

-โปรดอ่านต่อหน้าถัดไป -

 

หากมีข้อสงสัย
ต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการว่าจ้างผู้รับเหมา
และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้าน ปรึกษาได้ฟรีครับ
โดยคลิกที่ไอคอนข้างล่างนี้

ไปหน้า..สารบัญเรื่องจริงผ่านเน็ท
ประสบการณ์สร้างบ้านของเจ้าของบ้าน


ค้นข้อมูล ในซีเล็คคอน

14-2-2560-S

สงวนลิขสิทธิ์ © โดยทีมงาน selectcon.com