ตลาดซื้อขายบริการรับสร้างบ้าน เพื่อการ..ว่าจ้างสร้างบ้าน..แบบ วิน วิน

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับแบบบ้าน-สเปค เพื่อท่านจะไม่เสียเปรียบ !!

2


โดย..ลุงทอม

"ดีเทล" ของแบบบ้าน มีผลต่อราคาต่อตารางเมตร..!!

รายละเอียดหรือดีเทลของบ้าน...
มีผลทำให้ "ราคาค่าก่อสร้างต่อตารางเมตร" สูงกว่าหรือต่ำกว่ากัน
ทั้งๆที่จำนวนพื้นที่ใช้สอยเท่ากัน

บ้าน 2 หลัง มีพื้นที่ใช้สอยวัดเป็นตารางเมตร "เท่ากัน"
แต่ "สัดส่วน" ระหว่างพื้นที่ใช้สอยภายใน และ ภายนอก "ต่างกัน"
ต้นทุนค่าก่อสร้าง "เฉลี่ยต่อตารางเมตร" ย่อมต่างกัน
เพราะ "พื้นที่ใช้สอยภายใน" ราคาต่อตารางเมตรสูงกว่า "ภายนอก"
พื้นที่ใช้สอยภายใน ส่วนที่เป็น "ห้องน้ำ" ราคาต่อตารางเมตร สูงกว่าพื้นที่ใช้สอยภายในทั่วๆไป เพราะมีการปูกระเบื้องพื้นและผนัง มีสุขภัณฑ์ มีระบบท่อประปา

พื้นที่ส่วนที่เป็นห้องน้ำ ราคาต่อตารางเมตรสูงกว่าพื้นที่ภายในโดยทั่วไป


พื้นที่ใช้สอยส่วนที่เป็น "บันได"..

ต้นทุนค่าก่อสร้างต่อตารางเมตร สูงกว่าพื้นที่ใช้สอย ภายในทั่วๆไป
เพราะ ว่าต้องทำโครงสร้างบันได ค.ส.ล. (ถ้าโครงสร้างบันไดเป็น ไม้ หรือ เหล็ก ต้นทุนจะลดลง) ต้องมีไม้มาปูเป็นลูกตั้งลูกนอนบันได ต้องมีราวบันได ซึ่งเป็นวัสดุที่ มีราคาสูง และ ต้องทำสีงานไม้บันไดด้วย


พื้นที่ใช้สอยภายใน..

สำหรับบ้านที่มีความสูงระหว่างพื้นถึงเพดานต่างกัน ต้นทุนก่อสร้างต่อตารางเมตรก็ต่างกันด้วย
เพราะบ้านที่มีระดับความสูงมากขึ้น ต้องเพิ่มต้นทุน ค่าก่ออิฐ ฉาบปูน ค่าทำสี ค่าทำบันได (ถ้าบ้านมีความสูงมากขึ้น จะมีผลถึงขั้นบันได) ในกรณีที่สูงมากๆ ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในเรื่อง เพิ่มขนาดความสูงของประตูหน้าต่าง เพื่อให้เหมาะสมกับตัวบ้าน


พื้นที่ใช้สอยภายใน..

ถ้ามีพื้นที่เท่ากัน แต่มีจำนวนประตูหน้าต่าง และ จำนวนผนังภายใน ไม่เท่ากัน ต้นทุนค่าก่อสร้างต่อตารางเมตร ย่อมจะต่างกันด้วย 

จำนวนและขนาดของประตูหน้าต่างไม่เท่ากัน ราคาต่อตารางเมตรย่อมต่างกัน


พื้นที่ใช้สอยภายใน ที่เล่นระดับ..

ต้นทุนค่าก่อสร้างย่อมสูงกว่า พื้นที่ใช้สอยภายในแบบไม่เล่นระดับ


หน้าต่าง..

บานหน้าต่างนั้นหากว่ามีสี่ช่องติดกันเป็นแบบบานหน้าต่างบานเปิดทั้งหมด กับ บานหน้าต่างสองช่องบานฟิกซ์สองช่อง ซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนไม่เท่ากัน


พื้นออนบีมหรือออนกราวด์..

พื้นแบบที่ถ่ายน้ำหนักลงบนคาน (On Beam) ต้นทุนค่าก่อสร้างจะสูงกว่าพื้นแบบที่ถ่ายน้ำหนักลงดิน (On Ground)


พื้นที่ใช้สอบภายนอก..

พื้นที่ใช้สอยภายนอกที่มีหลังคาคลุม ต้นทุนค่าก่อสร้างต่อตารางเมตร ย่อมสูงกว่า พื้นที่ใช้สอยภายนอกที่ไม่มีหลังคาคลุม


แบบบ้านมีรายละเอียดเยอะ..

แบบบ้านที่มีลูกเล่นลวดลายที่ทำให้บ้านสวยขึ้น ย่อมมีต้นทุนค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรสูงกว่าแบบบ้านที่ไม่ค่อยมีลูกเล่นลวดลาย ทั้งๆที่พื้นที่ใช้สอยภายในและภายนอกเท่ากัน (ลูกเล่นต่างๆ เช่น บัว งานไม้ตกแต่ง การกรุผิวผนัง เป็นต้น)


ระยะห่างระหว่างเสา..

แบบบ้านที่วางระยะห่างระหว่างเสาไม่เกิน 4.5 เมตร ย่อมมีต้นทุนค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรย่อมต่ำกว่าแบบบ้านที่ มีระยะห่างระหว่างเสา 5.5 เมตร (สแปนเสา หรือ ระยะห่างระหว่างเสา ยิ่งกว้างคานบนจะยิ่งใหญ่มากขึ้น ต้องเสริมเหล็กมากขึ้นต้องเปลืองหลังคามากขึ้น ต้องเพิ่มขนาดเข็มให้ใหญ่ขึ้น) 

ระดับพื้นชั้นล่างต่างกัน ต้อนทุนค่าก่อสร้างไม่เท่ากัน


ระดับความสูงของพื้นชั้นล่าง..

ระดับพื้นบ้านชั้นล่างที่สูงจากดินถมภายในบ้าน 80 ซ.ม. ย่อมมีต้นทุนค่าก่อสร้างต่อตารางเมตร ย่อมต่ำกว่า ระดับพื้นบ้านชั้นล่างที่สูงจากดินถมภายในบ้าน 100 ซ.ม. เพราะที่ระดับ 100 ซ.ม. ขึ้นไป ไม่สามารถใช้ดินทำแบบท้องคานชั้นล่างได้ ต้องทำไม้แบบมารองรับ


คานหลังคา..

คานรับโครงหลังคา หรือ ที่เรียกกันว่า อะเส ที่ทำด้วยเหล็กตัวซีสองชิ้นเชื่อมประกบกัน จะมีต้นทุนค่าก่อสร้าง ต่ำกว่า คานรับโครงหลังคาที่ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก 

 

คานรับโครงหลังคา หรือ อะเส ดูเองนะครับว่าต้นทุนมันต่างกัน

 


-จบบทความในเรื่องนี้-

หากมีข้อสงสัย
ต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการว่าจ้างผู้รับเหมา
และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้าน ปรึกษาได้ฟรีครับ
โดยคลิกที่ไอคอนข้างล่างนี้

ไปหน้า
สารบัญ..เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง

 

ค้นข้อมูล ในซีเล็คคอน

14-2-2560-S

สงวนลิขสิทธิ์ © โดยทีมงาน selectcon.com