ตลาดซื้อขายบริการรับสร้างบ้าน เพื่อการ..ว่าจ้างสร้างบ้าน..แบบ วิน วิน

 

ประสบการณ์สร้างบ้าน
เรื่องจริงผ่านเน็ท โดยเจ้าของบ้าน

 


โดย หมอโจ

มุมมองเจ้าของบ้าน ตอนที่ 34
งานเสาเข็มเจาะ ถูกหรือแพง เราเลือกได้

หมู่บ้านที่ผมกำลังจะสร้างบ้าน ค่อนข้างจะมีกฎระเบียบจุกจิกมากครับ

นอกจากจะต้องวางเงินประกันค่าเสียหายระหว่างก่อสร้าง
และต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับนิติบุคคลหมู่บ้าน ( เค้าใช้คำว่า “ค่าสาธารณูปโภค” )
รวมๆแล้วร่วมแสนบาทแล้ว หมู่บ้านยังมีระเบียบอะไรต่อมิอะไรที่หยุมหยิมมาก

อย่างเช่น ห้ามสร้างบ้านสูงเกิน 12 เมตร รั้วห้ามสูงเกิน 1.8 เมตร
ด้านหน้าต้องโปร่ง ห้ามก่อรั้วทึบ ห้ามตั้งแคมป์
คนงานในหมู่บ้าน 5 โมงเย็นต้องเลิกงาน ห้ามทำงานวันอาทิตย์

โอ้ย... ห้ามนู่นห้ามนี่เยอะไปหมดครับ

มีจุดหนึ่งที่ห้าม และส่งผลอย่างมากต่อค่าก่อสร้างบ้านก็คือ

การห้ามใช้เสาเข็มตอกครับ
หมู่บ้านระบุว่าต้องใช้เสาเข็มเจาะเท่านั้น 

เดิมทีผมก็ไม่คิดอะไรมาก “ ไม่ตอกก็ได้(วะ) เจาะเอา มันจะไปยากอะไร ”
แต่พอรู้ว่า ราคาเสาเข็มเจาะมันแพงกว่าเสาเข็มตอกกว่าเท่าตัว
แล้วเสาที่บ้านผมใช้ก็ใช่น้อย บวกลบคูณหารคิดออกมาเป็นเงินแล้ว

ม่าย...จริ๊ง.....

แทบช็อคครับ !

จาก BOQ ที่ผู้รับเหมาเคยเสนอให้ผม
ตอนนั้นถอดราคาเหมาเจาะเสาเข็มออกมาประมาณ 14,000 และ 16,500 บาท/ต้น
( เสาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 35 และ 40 ซม.ตามลำดับ )

รวมๆกันแล้วก็ประมาณ 440,000* บาท
(ยังไม่รวมค่าดำเนินการ+กำไรอีก ประมาณ 15% )

*ราคานี้ ถือว่าถูกกว่าผู้รับเหมาเจ้าอื่นแล้วนะครับ
บางรายค่าเหมาเสาเข็มเกือบ 6 แสนยังมีเลยครับ

ช่วงนั้นถึงกับเซ็งไปพักใหญ่เลยครับ โทรไปบ่นกับคอนซัลแทนซ์แทบทุกวัน

จนแฟนชักระแวง
“ อย่าให้รู้นะ ว่าแอบอี๋อ๋อกับสาวที่ไหน แล้วทำอ้างว่าคุยกับคอนซัลแทนซ์ ”
แหม.....ของอย่างนี้ ใครจะให้จับได้ล่ะ

เอิ๊กๆๆ

ไอ้หยา...........แฟนผมไม่รับมุก
ทำตาเขียวแล้วครับ

งั้นกลับมาเข้าเรื่องต่อดีกว่า

ตอนแรกคอนซัลแทนซ์เสนอให้ผมดึงงานเสาเข็มออกมา
หาผู้รับเหมาทำเข็มเจาะเอง น่าจะได้ราคาที่ถูกกว่านี้

ซึ่งผมเองก็เห็นดีด้วย
(ตอนนั้นนะ อะไรก็ได้ ขอให้ถูกกว่า เป็นเอาหมดแหละ ) 

แต่เอาเข้าจริง จะไปหาผู้รับเหมาเสาเข็มเจาะที่ไหนล่ะครับ
แค่หาผู้รับเหมา สร้างบ้านก็ล่อไปเกือบครึ่งปีแล้ว
เวลาก็กระชั้นเข้ามาทุกที ฤกษ์ขึ้นเสาเอกก็อีกไม่กี่อาทิตย์แล้ว

ผมก็เลยใช้วิธีรวบรัด หลักสูตรระยะสั้น

ให้คอนซัลแทนซ์เช็คราคาของผู้รับเหมาเข็มเจาะหลายๆเจ้า ที่พี่แกเคยคุมงาน
รายไหนที่ดูแล้วเวิร์ค ราคาไม่แพง ก็เรียกมาคุยกัน

ก็ได้มาเจ้าหนึ่งที่ยังว่างงานอยู่ และคิดเหมาเจาะเสาเข็มในราคาที่ไม่แพงมาก
ตกต้นละ 12,500 โดยเหมาทั้งของและค่าแรง
( ณ เวลานั้น ราคาเหมาส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 14,000 บาทต่อต้น )

ด้วยราคานี้ ผมก็ว่าถูกแล้วนะ
แต่มันมีเหตุที่ทำให้ ผมได้ราคาที่ถูกกว่านี้อีก

นั่นแน่ ! อยากรู้แล้วใช่มั้ยล่ะ ว่าผมทำยังไง
เอาไว้ติดตามอ่านต่อตอนหน้าดีมั้ยน้า...................

โป๊ก !

“ อย่ามาลีลา คนอ่านเค้าอยากรู้จะแย่อยู่แล้ว ” (แฟนดุ)
“ จ๊ะๆ พี่ไม่นอกเรื่องแล้วจ๊ะ ”

เรื่องมันมีอยู่ว่า ผู้รับเหมางานเสาเข็มเจาะเจ้าที่ผมจะดีลด้วย
แกบอกว่าอยากรับงานนี้ แต่ช่วงนี้การเงินของแก สภาพคล่องไม่ค่อยดี
งานที่ระยองยังไม่ได้รับเงิน ก็เลยไม่มีเงินหมุน
จะเป็นไปได้มั้ย ถ้าจะให้ผมซื้อของให้แก แล้วแกขอรับเฉพาะค่าแรง

เอาละสิครับ งานเข้าแล้ว
จะให้ผมสั่งเหล็ก สั่งคอนกรีตให้ เกิดมาก็ไม่เคยทำมาก่อน

หันไปหาตัวช่วย แทนที่พี่แกจะช่วยผมกล่อมให้ผู้รับเหมาเข็มทำเองทั้งหมด
คอนซัลแทนซ์แกกลับบอกผมว่า...
“ ก็ดีนะหมอ ช่วงนี้เหล็กกำลังลง หมออาจได้ราคาที่ถูกกว่าเค้าเหมาก็ได้ ”

“ หมอนะพี่ ไม่ใช่อาชีพรับเหมา จะทำได้ทุกอย่างขนาดนั้น”
ยอมรับว่า ตอนแรกผมก็ไม่มั่นใจว่าจะทำได้

เป็นหมออยู่ดีๆ ไม่ว่าดี จะหาเรื่องผันตัวไปเป็นผู้รับเหมาซะงั้น
แต่พอได้ยินคำว่า “ ถูกกว่า ” เท่านั้นแหละ หูงี้ผึ่งทันที

เอาเป็นว่า พอตกลงกันว่าผมจะสั่งเหล็กเส้น และปูน มาให้ผู้รับเหมาเจาะเสาเข็ม
งานแรกที่ผมต้องทำก็คือ เช็คราคาปูนและเหล็กครับ

ผมโทรเช็คราคาเหล็กจากโกดังบริษัทใหญ่ๆหลายที่
ทำให้รู้ว่า ทุกโรงงานจะมีเซลล์เสนอราคาให้ลูกค้า
เราแค่ดีลผ่านเซลล์ ถ้ายอดสั่งซื้อเรามาก โอกาสต่อรองเราก็เยอะ

ยอดเหล็กของผมตอนนั้นตกประมาณ 4 ตัน แต่เนื่องจากช่วงนั้นเหล็กราคาลง
โกดังต่างๆต้องพยายามระบายเหล็กค้างในสต๊อค เค้าเลยไม่บวกค่าขนส่งเพิ่ม

ผมเลือกใช้เหล็กเต็มน้ำหนัก มี ม.อ.ก ยี่ห้อ BSI ครับ

เชื่อมั้ยว่า ขณะที่ราคาเหล็กกำลังลงก็จริง แต่ก็ยังมีบางบริษัทไม่ปรับราคาลง
ดีที่ผมโทรไปเรื่อยๆ จนได้ราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ

สุดท้ายได้ราคาที่ประมาณ 22-23 บาท/กิโลกรัม
ณ เวลานั้น(เจ้าที่ไม่ลดราคาลง อยู่ที่ประมาณ 34-35 บาท)

ส่วนคอนกรีต กำหนดให้ใช้ของ C-pac
ผมก็เลยต้องติดต่อผ่านเซลล์ซีแพ็ค ว่าต้องการใช้คอนกรีตสำหรับทำเสาเข็มเจาะ

เค้าก็จะให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์และราคามา
ถ้าสั่งเยอะ ราคาต่อคิวก็ถูกหน่อย

เชื่อมั้ย ค่าปูนและค่าขนส่งสำหรับเที่ยวนี้ ฟรีครับ
(แต่หลังจากที่เราจ่ายเงินให้เค้าแล้วนะ อิอิ งงละสิ)

ถามว่า แล้วเราจะชำระเงินเค้ายังไง

ร้านเหล็กนี่ไม่แปลกครับ โอนเงินเข้าบัญชีบริษัทก่อน ของจะส่งให้ในวันถัดไป
แต่ไอ้ที่ทำให้ผมงุนงงเป็นอันมาก ก็คือ คอนกรีตซีแพ็คนี่แหละ

เพราะต้องไปชำระเงินที่นี่ครับ

เกิดมาก็พึ่งเคยได้ยินเนี่ยแหละ ว่าจ่ายเงินค่าคอนกรีตที่เซเว่น
(แต่ต้องเป็นที่ๆมี counter serviceนะครับ ถ้าเป็น plus ได้ยิ่งดี)

ตอนแรกผมก็ไม่เชื่อ เลยลองเข้าไปถามในเซเว่นดู
น้องๆแคชเชียร์ก็ดูงงๆกันอยู่ แต่พอเช็คบาร์โคดแล้ว
ปรากฏว่ามีจริงๆ และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมด้วย

เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ก็คล้ายบัตรเติมเงินน่ะครับ
เราโทรไปเปิด site code กับซีแพ็คก่อน

จากนั้นก็จะได้รหัสมาไว้ไปจ่ายตังค์
เราจะใช้คอนกรีตเท่าไหร่ เป็นเงินกี่บาท ก็ไปจ่ายที่เซเว่น
ระบบจะออนไลน์ครับ เมื่อมีเงินอยู่ในระบบ

พอเราโทรไปสั่งคอนกรีตที่ซีแพ็ค เค้าก็จะเห็นยอดเงินว่ามีอยู่พอรึเปล่า
ถ้าพอก็ส่ง คอนกรีตไปให้ ถ้าเงินไม่พอ ก็ต้องเติมเพิ่ม
จะจ่ายทีเดียวเยอะๆ หรือทยอยจ่ายก็แล้วแต่เรา

ยุคที่เซเว่นครองเมือง อะไรๆก็ดูง่ายดีนะครับ 
ผมไม่ลืมขอบคุณเด็กๆใน เซเว่น ก่อนหันหลังกลับ
เสียงเจื้อยแจ้วของแม่สาวน้อยหน้าตาจิ้มลิ้มก็ลอยมา

“ รับขนมจีบ ซาลาเปาเพิ่มมั้ยค่ะ ”
หึหึ...กว่าเสาเข็มจะเสร็จ สงสัยต้องกินซาลาเปาอีกหลายลูกแหงๆ

♪ เท(ปูน)เมื่อไหร่ก็แวะมา ♫ เซเว่น..อีเลฟเว่น ♪

-โปรดอ่านต่อหน้าถัดไป -

 

หากมีข้อสงสัย
ต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการว่าจ้างผู้รับเหมา
และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้าน ปรึกษาได้ฟรีครับ
โดยคลิกที่ไอคอนข้างล่างนี้

ไปหน้า..สารบัญเรื่องจริงผ่านเน็ท
ประสบการณ์สร้างบ้านของเจ้าของบ้าน


ค้นข้อมูล ในซีเล็คคอน

14-2-2560-S

สงวนลิขสิทธิ์ © โดยทีมงาน selectcon.com