ตลาดซื้อขายบริการรับสร้างบ้าน เพื่อการ..ว่าจ้างสร้างบ้าน..แบบ วิน วิน

 

ประสบการณ์สร้างบ้าน
เรื่องจริงผ่านเน็ท โดยเจ้าของบ้าน

 


โดย หมอโจ

มุมมองเจ้าของบ้าน ตอนที่ 32
สัญญาว่าจ้าง เจ้าของบ้านต้องไม่เสียเปรียบ

เกริ่นไว้ตอนที่แล้วว่า จะเล่าเรื่องสัญญาว่าจ้างให้อ่านกัน
ไอ้ครั้นจะเบี้ยวไม่ยอมเล่า พาลจะโดนด่าซะเปล่า
ก็เลยจะเล่าให้ฟังนิดนึงละกันนะครับ

จริงๆแล้ว หัวใจสำคัญของการว่าจ้างใครซักคนมาสร้างบ้านให้เรา
(ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาหรือบริษัทรับสร้างบ้านก็ตาม)
ผมว่ามันอยู่ที่สัญญานี่แหละครับ

ไม่มีใครอยากทำสัญญาที่ทำให้ตัวเองเสียเปรียบหรอกครับ
ท้าให้เตะได้ (......หาผมให้เจอละกัน)
ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้านหรือผู้รับเหมา

แต่จะมีมั้ย สัญญาที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย
ถ้าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร่างเองฝ่ายเดียว อีกฝ่ายหนึ่งจะระแวงรึเปล่า

ผมเห็นในพันทิป
มักมีคนไปเซ็นสัญญามาแล้ว กลับมานั่งกลุ้ม วิตกกังวล
ว่าจะโดนโกงมั้ยครับ จะเสียเปรียบรึเปล่าคะ

หรือถ้ายังไม่เซ็น ก็จะมาโพสถามว่า
สัญญาที่ได้มา โอเครึเปล่า

แสดงให้เห็นว่า เจ้าของบ้านมักเป็นฝ่ายเล่นตามเกมอีกฝ่าย อยู่เป็นประจำ

ผมก็เลยตัดปัญหา โยนให้คอนซัลแทนซ์จัดการแทน
พี่แกก็ทำร่างมาให้ดู พร้อมกับแบ่งงวดงานมาให้เสร็จสรรพ

ซึ่งเงื่อนไขนี้ ผมบอกผู้รับเหมาทุกเจ้าไว้แต่ต้นแล้วครับ
ว่าทางเราจะร่างสัญญาเอง ด้วยความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย
แล้วให้คุณพิจารณาอีกที ถ้ารับเงื่อนไขนี้ไม่ได้ ก็ไม่ต้องรับแบบไปตีราคา

ทำเป็นเข้มเชียว
เป็นไงครับ... ดูแล้ว เจ้าของบ้านเป็นใหญ่จริงๆ

ในส่วนของสัญญา ผมก็ไล่อ่านตั้งแต่แผ่นแรกยันแผ่นสุดท้าย
อันไหนไม่แน่ใจก็ถาม อันไหนอยากให้เพิ่มก็บอก ทางฝ่ายผู้รับเหมาเอง

หลังจากเอาไปดูแล้ว ก็โอเค บอกรับได้
(รายละเอียดเนื้อหาภายใน ขอไม่พูดถึง มันมากเหลือเกินครับ)

ส่วนเรื่องงวดงานและการจ่ายเงิน ก็แฟร์ดีครับ
เงินที่จ่ายสัมพันธ์กับเนื้องานปริมาณงานที่ทำ
ทำน้อยจ่ายน้อย ทำมากจ่ายมาก

ผมลองเอาค่าจ้างสร้างบ้านของผม มาแบ่งงวดงานดูเอง
โดยใช้เกณฑ์การแบ่งงวดของบริษัทรับสร้างบ้าน
เพื่อจะลองเปรียบเทียบกับการแบ่งงวดแบบนี้ดู

พบว่า ที่เห็นต่างแน่ๆ ก็คือ งวดทำสัญญาครับ
ทุกบริษัทรับสร้างบ้าน จะเก็บเงินงวดทำสัญญากันหมด10-15% แล้วแต่บริษัท

ขณะที่เราระบุในสัญญาเองว่า ไม่มีการเก็บเงินในส่วนนี้
คุณทำงานให้เห็นก่อน ผมถึงจะจ่าย ประมาณนั้น

จุดต่างอีกจุดหนึ่งก็คือ จำนวนงวดงานครับ

ในสัญญาของผมแบ่งย่อยงวดงานถึง18งวด

แบ่งแบบสัมพันธ์กับเนื้องานแบบนี้ จำนวนงวดงานจะถี่และเยอะมากครับ

แต่ละงวด วงเงินจะไม่สูงมากนัก เป็นหลักหมื่นยังมีเลย
( ขณะที่ของบริษัทรับสร้างบ้าน จะซอยไม่ถี่ย่อยขนาดนี้ )

ซึ่งมันก็มีข้อดี ตรงที่คุณทำแค่ไหน ผมก็จ่ายเท่านั้น
ผู้รับเหมาก็ได้เงินเร็ว ทำงานหมวดนี้เสร็จก็ได้เงิน
รอทำงานหมวดต่อไปได้เลย

แต่ถ้าเราแบ่งแบบน้อยงวด
ถ้าผู้รับเหมาการเงินไม่แข็งพอ สภาพคล่องไม่ดีนัก งานจะสะดุดง่าย

ผู้รับเหมาเองก็ต้องทำผังงาน ที่สัมพันธ์กับงวดงาน และระยะเวลาการทำงานมาให้ผมดูด้วย

แต่วิธีนี้ เจ้าของบ้านอาจจะต้อง ตัดจ่ายเงินบ่อยหน่อย
ซึ่งถ้าใครขี้เกียจวุ่นวาย อาจจะไม่ชอบ

แต่ผมชอบครับ นานๆจ่ายที เงินมันเป็นก้อนใหญ่ เห็นแล้วใจจะสลาย.... 
จ่ายบ่อย แต่เห็นตัวเลขทีละน้อย มันดูอุ่นใจกว่า

“ หลอกตัวเองไปได้ ท้ายที่สุดก็จ่ายเท่ากันแหละ ”
อ้าว มากัดกันซะงั้น แฟนผม

แน่นอนว่า งวดงานที่เราจ่ายให้ผู้รับเหมา
กับงวดงานของแบงค์ที่จ่ายเงินให้เรา ไม่สัมพันธ์กันอย่างแน่นอน

คราวนี้ก็อยู่ที่ความสามารถในการหมุนเงินของเราแล้วครับ

ว่าจะ “เนียน” ขนาดไหน

-โปรดอ่านต่อหน้าถัดไป -

 

หากมีข้อสงสัย
ต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการว่าจ้างผู้รับเหมา
และ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างบ้าน ปรึกษาได้ฟรีครับ
โดยคลิกที่ไอคอนข้างล่างนี้

ไปหน้า..สารบัญเรื่องจริงผ่านเน็ท
ประสบการณ์สร้างบ้านของเจ้าของบ้าน


ค้นข้อมูล ในซีเล็คคอน

14-2-2560-S

สงวนลิขสิทธิ์ © โดยทีมงาน selectcon.com